วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

ดอยสอยมาลัย หลังคาเมืองตาก



รายละเอียด
   ดอยสอยมาลัย ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จ.ตาก และ จ.เชียงใหม่ ยอดดอยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,664 เมตร และเป็นยอดเขาสูงที่สุดของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ซึ่งก่อนขึ้นไปพิชิต ดอยสอยมาลัย ได้นั้น ต้องขออนุญาตก่อนทุกครั้ง เหตุเพราะถือว่าเป็นเขตที่มีความเปราะบางทางพันธุกรรมสูง ดังนั้น การขอเข้าใช้พื้นที่จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง
   บนยอด ดอยสอยมาลัย นอกจากจะมองเห็นทิวทัศน์ และความงดงามของอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้แล้วนั้น ดอยสอยมาลัย ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกหนึ่งอย่าง คือ สลาแมนเดอร์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า จิ้งจกน้ำ เป็นสัตว์น้ำดึกดำบรรพ์ที่หายาก ลักษณะคล้ายจิ้งจก ลำตัวสีชมพู
   สำหรับสภาพป่าโดยทั่วไปของ ดอยสอยมาลัย เป็นป่าสนเมืองหนาว มีจุดชมวิวทะเลหมอกในยามเช้า ช่วงปลายฝนต้นหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม เป็นช่วงที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวที่สุด นักท่องเที่ยวสามารถกางเต็นท์พักแรมได้บริเวณที่ทำการฯ โดยจะต้องขออนุญาตที่หน่วยพิทักษ์ป่ากิ่วสามล้อก่อนขึ้นดอยสอยมาลัยทุกครั้ง ซึ่งสามารถกางเต้นท์พักแรมได้ด้วยกัน 3 จุด คือ…

1. หน่วยต้นน้ำเขื่อนภูมิพล ห่างจากยอดดอยประมาณ 5 กิโลเมตร
2. บริเวณยอดดอย (จุดสูงสุด)
3. หน่วยจัดการต้นน้ำ กรมป่าไม้ เลยยอดดอยไปประมาณ 5 กิโลเมตร

   อย่างไรก็ตาม ก่อนขึ้นพิชิตหลังคาเมืองตากต้องขออนุญาตจากหน่วยพิทักป่าเกียวสามล้อก่อนซึ่งเลยปากทางขึ้นดอยไปประมาณ 2 กิโลเมตรและพาหนะเดินทางต้องเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ ทั้งสิ้น

ลักษณะเด่น
   มีจุดชมวิวทะเลหมอกในยามเช้า จากยอดดอยสามารถมองเห็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลได้

อุทยานแห่งชาติลานสาง จังหวัดตาก



ตำนานลานสาง
   ในสมัยที่ป่าลานสางยังอุดมสมบูรณ์อย่างเต็มที่เมื่อประมาณ 200 กว่าปี สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ยกทัพไปตีเชียงใหม่ครั้งที่ 2 ทรงหยุดพักพลที่บ้านระแหง แขวงเมืองตาก มีพวกมอญหนีพม่าเข้ามาสวามิภักดิ์ พระเจ้าตากสินได้ยกทัพเข้าตีขับไล่พม่าซึ่งตามมอญเข้ามา ในคืนหนึ่งพระองค์ได้พลัดหลงทางออกไปจากกองทัพ ทำให้ไพร่พลทหารของพระองค์พากันออกติดตามก็ไม่พบ ประจวบกับภูมิประเทศซึ่งในสมัยนั้นเป็นป่าทึบรกชัฏ ในเวลากลางคืนเดือนมืดทำให้ยากแก่การติดตาม ทหารทุกคนก็ล้ากำลังลงจึงพากันหยุดพัก ขณะที่ทหารไทยเหล่านั้นพักอยู่ก็เกิดปาฏิหารย์ มีแสงสว่างพุ่งสู่ท้องฟ้าพร้อมกับได้ยินเสียงม้าร้องอื้ออึง ทหารที่พักอยู่นั้นต่างก็พากันรีบตรงไปหาจุดที่มี แสงสว่างนั้น พอไปถึงจึงเห็นพระเจ้าตากสินประทับม้าพระที่นั่งกลางลานนั้น มีแสงสว่างออกมาจากพระวรกาย พรั่งพร้อมไปด้วยทหารพม่าประมาณ 50 คน คุกเข่าหมอบกราบสวามิภักดิ์ยอมแพ้อยู่เบื้องหน้า ทหารไทยต่างตกตะลึงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปาฏิหารย์นั้น ประจวบกับเวลาฟ้าสางพอดี ต่อมาบริเวณนั้นเรียกว่า “ลานสาง”


ลักษณะภูมิประเทศ
   สภาพภูมิประเทศในอุทยานแห่งชาติซึ่งมีพื้นที่ 65000 ไร่ เป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน มีเทือกเขาถนนธงชัย ตั้งอยู่กึ่งกลางพื้นที่อุทยานแห่งชาติ สัณฐานของเทือกเขาเรียงตัวเป็นแนวยาวไปตามทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ มียอดเขาอุมยอมเป็นยอดเขาสูงสุด สูงประมาณ 1,065 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง พื้นที่อุทยานแห่งชาติเกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่แบบเทือกเขามีที่ราบน้อยมาก มีความลาดชันทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้มากกว่าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวคือจุดต่ำสุดทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้สูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 910 เมตร ในขณะที่จุดต่ำสุดทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางเพียง 210 เมตร และบริเวณลาดต่ำทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือแผ่กว้างออกไปมากกว่าบริเวณลาดต่ำทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ธรณีสัณฐานเช่นนี้ทำให้เกิดบริเวณอับฝน (Rain – shadow) ตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเขตอุทยานแห่งชาติ การเปลี่ยนแปลงทางธรณีของพื้นที่อุทยานแห่งชาติลานสาง จำแนกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงออกได้เป็น 3 ช่วงที่ปรากฏชัดเจน ในช่วงแรกเป็นช่วงเวลาการตกทับถมของตะกอน หินและดินประเภทต่างๆ ตามขอบทวีป ประมาณเวลานับเป็นพันปีขึ้นไปในมหายุค Precambrian ช่วงที่สองเกิดการเปลี่ยนแปลงสัณฐานภูมิประเทศที่สำคัญ 2 ลักษณะคือ ลักษณะแรกเป็นการโก่งหรือโค้งตัวของเปลือกโลกในยุค Carboniferous (ประมาณ 350 ล้านปีที่ผ่านมา) ปรากฏการณ์ชั้นหินดังกล่าวทำให้ขอบทวีปแผ่กว้างออกไปในทะเล ช่วงที่สามมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ เกิดการบิดหรือหักตัวของชั้นหินที่โก่งหรือโค้งตัวนั้น ทำให้เกิดภูเขาสูงและหุบเหวตามเชิงเขา
   ลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาเช่นนี้ ก่อให้เกิดหินชนิดต่างๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจพบว่ามีหินไนส์แผ่เป็นบริเวณกว้าง บางแห่งมีหินแปร เช่น หินอ่อน และหินปูน แทรกอยู่ในบริเวณที่มีการจัดตัวของชั้นหิน และพบหินตะกอน ประเภทหินดินดาน บริเวณใกล้ผิวดินเป็นบางแห่งอีกด้วย สามารถพบเห็นหินเหล่านี้บริเวณน้ำตกลานสาง ซึ่งมีอายุแต่ละก้อนอย่างน้อย 350 ล้านปี

ลักษณะภูมิอากาศ
   อุทยานแห่งชาติลานสางแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม- ตุลาคม ฤดูหนาว ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ฤดูร้อน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน อุณหภูมิสูงสุด 43 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิต่ำสุด 7 องศาเซลเซียส

พืชพรรณและสัตว์ป่า
   อุทยานแห่งชาติลานสางเป็นจุดนัดพบของป่าประเภทต่างๆ ได้แก่ ป่าดิบแล้ง พบตามหุบเขาและบริเวณริมห้วยมีไม้สมพง กะบก ตะเคียนหิน เป็นพรรณไม้เด่น ป่าดิบเขา พบขึ้นเป็นหย่อมๆ บริเวณเทือกเขาสูงใกล้สันปันน้ำ พันธุ์ไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่เป็นพวกไม้ก่อ และทะโล้ ป่าสนเขา ขึ้นอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร ไม้ที่พบเป็นพวกสนสองใบ อาจจะขึ้นปนอยู่กับเต็ง รัง เหียง พลวง และก่อชนิดต่างๆ ป่าเบญจพรรณ เป็นป่าที่ไม่รกทึบ พบ แดง ประดู่ มะค่าโมง สัก เสี้ยว เปล้า เก็ดแดง ตะคร้อ สมอ และไผ่หลายชนิด และ ป่าเต็งรัง พบบนเนินเขาสภาพพื้นที่มีหินโผล่ มีไม้เต็ง รัง และมะขามป้อมเป็นพันธุ์ไม้เด่น
   สัตว์ป่าที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ เลียงผา เก้ง กวางป่า เสือไฟ หมูป่า ลิง ค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น ชะมด กระต่ายป่า บ่าง และกิ้งก่าบิน เป็นที่น่าจะศึกษาชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างยิ่ง

ดูเพิ่ม : http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1015


วัดพระบรมธาตุ (หลวงพ่อทันใจ) จังหวัดตาก





ตามประวัติความเป็นมา วัดพระบรมธาตุ (หลวงพ่อทันใจ) อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง เดิมที่วัดแห่งนี้เป็นเมืองตากเก่า ก่อนที่จะมีการย้ายตัวเมืองไปอยู่ที่ ตำบลระแหง ซึ่งเป็นเมืองตากในปัจจุบัน ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร อันมีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัย พระนางจามเทวี ล่องเรือเสด็จไปเมืองลำพูน แล้วหยุดพักบริเวณแห่งนี้ พบว่าเป็นเมืองร้าง จึงได้สั่งให้มีการฟื้นฟูบูรณะเมืองจนกลายเป็นชุมชนเมืองตาก วัดพระบรมธาตุ ยังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง ที่ทรงกระทำยุทธหัตถี ชนะศึกเจ้าเมืองฉอด บนเนินเขาใกล้กับพระบรมธาตุ ประมาณ 500 เมตร

  “วัดพระบรมธาตุ (หลวงพ่อทันใจ)” ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก การเดินทางไปยังตัววัด นักท่องเที่ยวสามารถมุ่งหน้าไปทางสายเอเชีย (ถนนพหลโยธิน) ตรงกิโลเมตรที่ 442 เส้นทางจะไปยังจังหวัดลำปางประมาณ 18 กิโลเมตร จากตัวเมืองจังหวัดตากจนถึงทางแยกเข้าอำเภอบ้านตาก ขับไปอีก 1.5 - 2 กิโลเมตร ให้เลี้ยวซ้ายเพื่อข้ามแม่น้ำปิง พอข้ามแล้ว ต่อไปจะเป็นตลาดให้เบี่ยงขวาตรงสามแยกเล็ก ๆ แถวตลาดขับไปเรื่อย ๆ ตามป้าย ไม่เกิน 10 กิโลเมตรก็จะถึงตัววัดอยู่ทางซ้ายมือ

    วัดพระบรมธาตุ (หลวงพ่อทันใจ) จะเปิดตั้งแต่เวลา 6.00 - 18.00 น. ทุกวัน ที่จอดรถบริการฟรี

ที่มา : https://thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/5194


เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก


ข้อมูลทั่วไป
   ในปี พ.ศ. 2494 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร” ขึ้น เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าในลำน้ำ ปิงบริเวณหุบเขาย่านรีหรือยันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีความเหมาะสม ต่อการสร้างเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง นำมาสู่การสร้าง “เขื่อนยันฮี” ขึ้นในปี พ.ศ. 2496 และในปีเดียวกันนี้เองก็มีการตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” (กฟย.) เพื่อรับผิดชอบการสร้างเขื่อน และผลิตไฟฟ้าให้กับภาคกลางและภาคเหนือ
   ปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและทรงกดปุ่มขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 เข้าระบบ และนับตั้งแต่วันนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลก็ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยมาโดยตลอดตั้งแต่นั้นมา

สถานที่ตั้ง
บริเวณเขาแก้ว ต.บ้านนา อ.สามเงา จ.ตาก

ดูเพิ่ม : https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2549&Itemid=117


สะพานแขวนสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จังหวัดตาก

  

   อาจกล่าวได้ว่าเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดตากเลยก็ว่าได้ หรือจุดชมวิวแม่น้ำปิงที่ดีที่สุดของจังหวัดตากคือมุมมองจากบนสะพานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีที่ใครๆ พากันเรียกว่า “สะพานแขวน”

   สะพานแขวนนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2525 โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เพื่อสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตัวสะพานมีขนาดกว้าง 2.50 ม. ยาว 700 ม. ฐานรากและเสาเป็นคอนกรีต จำนวน 5 จุด พื้นทำด้วยไม้โยง (แต่ปัจจุบันทำด้วยไม้เฌอร่า) และยึดด้วยลวดสลิงขนาดใหญ่ บนสะพานมีระยะทางยาวประมาณ 400 เมตร รองรับได้ไม่เกิน 100 คนต่อ 1 ช่วงสะพาน และสะพานแห่งนี้ใช้เดินสัญจรเชื่อมตัวเมืองตากกับบ้านป่ามะม่วง
   ไฮไลท์ของสะพานนี้โดยเฉพาะในตอนเย็น จะได้ชมบรรยากาศริมน้ำที่สวยงามและดวงอาทิตย์ที่จะลาลับขอบฟ้า แล้วเข้าสู่กลางคืนนั้นจะมีการประดับไฟสวยงาม ทำให้ตัวสะพานแลดูสว่างไสวโดดเด่นเหนือผืนน้ำสีเข้ม
   นอกจากนี้บริเวณโดยรอบสะพานยังมีสวนเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ภายในมีทั้งสวนสุขภาพ สนามกีฬาหลากหลายชนิดทอดขนาน ไปกับลำน้ำปิง รวมทั้งอาคารกิตติคุณสำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ในปัจจุบันสะพานแขวนและสวนเฉลิมพระเกียรติฯ แห่งนี้คือสถานที่ที่จังหวัดตากใช้จัดงานประเพณีลอยกระทงสายไหลประทีปพันดวง ซึ่งเป็นงานประเพณีประจำท้องถิ่นของจังหวัดตากที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ในวันนั้นคุณจะได้เห็นภาพ หนึ่งเดียวของเมืองไทยเมื่อกระทงกะลามะพร้าวลอยเป็นสายยาวไปตามแม่น้ำปิง



    ที่มา : https://thai.tourismthailand.org/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7/%E0%B8%AA%E0%B8%B0%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%82%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B9%82%E0%B8%A0%E0%B8%8A-%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%A3%E0%B9%8C-200-%E0%B8%9B%E0%B8%B5--4638

ดอยสอยมาลัย หลังคาเมืองตาก

รายละเอียด    ดอยสอยมาลัย ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จ.ตาก และ จ.เชียงใหม่ ยอดดอยอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 1,664 เม...